Thursday, February 11, 2016

Apprendre le français: ตารางรถบัส

การเรียนภาษา ไม่ได้อยู่แค่การท่องตำรา อ่านแกรมม่า ท่องศัพท์ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตจริงของเราเองด้วย โดยการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว สิ่งที่เราใช้ หรือหยิบจับ ที่มาดามเกริ่นมานี่ คือ พยายามโยงให้เข้าเรื่องที่จะมาแชร์สำหรับวันนี้ นั่นคือ การเรียนภาษาฝรั่งเศสจากตารางรถบัส

แน่นอนที่บางคนอาจจะไม่เคยนั่งรถบัส เพราะขับรถเอง หรือนั่งรถไฟใต้ดิน หรือรถราง  แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่ได้อยู่ในกรุงปารีส แถมไม่มีรถขับ ก็ต้องเดินทางกับรถบัส ซึ่งไม่เหมือนรถเมล์บ้านเราอย่างแน่นอน เพราะรถบัสที่นี่มาตรงเวลา เว้นเสียแต่กรณีมีอุบัติเหตุบนท้องถนน กีดขวางการจราจร ส่งผลให้รถติดยาว รถบัสก็จะมาช้าได้ (เคยเจอกับตัวเองมาหนึ่งหน รถติดเป็นชั่วโมง ถนนปิด เนื่องจากมีอุบัติเหตุ รถผ่านไปไม่ได้ ต้องอ้อมโลก จากที่ต้องถึงบ้าน 10 นาที ปาไปเป็นชั่วโมง)

การอ่านตารางรถได้จะช่วยชีวิตเราได้แน่นอน ช่วยในการเดินทาง ไม่หลง ไม่ตกรถ ในการวางแผนสำหรับการเดินทาง และพิสูจน์ได้ว่าเราก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสในชีวิตประจำวันได้

ตัวอย่างที่มาดามนำมาแชร์นี้ เป็นตารางรถบัสสาย 235 ในเครือ 67 Réseau 67 สำหรับเขต 67  Bas-Rhin นะคะ  ส่วนเขตอื่นเป็นอย่างไร มาดามไม่ทราบค่ะ มาดามอยู่เขต 67 สิ่งที่หยิบยกมาพูดก็จะจำกัดแค่ในเขต 67 นี้เท่านั้น แต่เขตอื่นก็สามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ เพราะคำศัพท์ก็ใช้เหมือนกัน จะต่างกันก็แค่เงื่อนไขบางอย่าง หรือกฏระเบียบบางอย่าง

มาดูหน้าตาของตารางรถบัสกันค่ะ les horaires de bus

จะไปเอาตารางรถบัสจากไหน? มาดามชอบไปหยิบตารางรถบัสจาก La mairie มาเก็บไว้ที่บ้านและพกติดตัวเสมอ เพื่อจะได้ดูเวลารถบัส บางครั้งก็หยิบในรถเลย ตรงทางขึ้น และที่แน่นอน สามารถหยิบได้ทุกสายที่ la gare หรือสถานีรถบัส
ทำไมต้องพกติดตัว? มีวันนึงที่มาดามไปเรียนภาษาฝรั่งเศส แล้วปรากฎว่าเค้างดสอน มาดามไม่ทราบ พอรุ้นี่แทบจะวิ่งกลับไปที่ป้ายรถเลย เพราะบางสายไม่ได้วิ่งทุกชั่วโมง นาน ๆ วิ่งที ถ้าพลาดก็ต้องรอไปอีกหลายชั่วโมง ที่เมืองเล็ก ๆ ก็ไม่มีที่ให้เดิน หรือนั่งเล่น นั่งรอ นาน ๆ ยิ่งถ้าหน้าหนาว หรือฝนตก จะไปรอที่ไหนกัน ถ้าพกตารางรถไว้กับตัวก็หยิบมากางดูว่ามีรถมากี่โมง ไปถึงป้ายทันไหม อย่างมาดามต้องต่อรถด้วย ก็ต้องพกตารางรถ 2 สายเลย 555 ชีวิตต่างแดน แถมบ้านนอกอีก
ตารางรถจะมี 2 หน้า สำหรับขาไปและขากลับ คำว่า Ligne คือ สาย จะตามด้วยหมายเลข และชื่อเส้นทาง จากต้นทาง ถึง ปลายทาง และต้องสังเกตุที่หน้ารถด้วย ที่ป้ายไฟบนหน้ารถจะบอกชื่อเมืองปลายทางด้วยค่ะ

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางแบบย่อให้ดูด้วยว่าจากไหน ไปไหน ผ่านที่ไหนบ้าง และระบุอีกด้วยว่าตารางรถนี้ใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ ปกติก็จะใช้ดูได้ 1 ปี นี่ใช้ได้ถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นก็ต้องไปหยิบมาใหม่ เพราะอาจมีการลดจำนวนการวิ่งในบางสายก็ได้ค่ะ
สิ่งที่สำคัญยิ่งในตารางรถบัส นั่นคือ ตารางเวลา ในแผ่นพับจะมีปฏิทินระบุวันที่และแถบสีให้ดูสำหรับแต่ละวันเลยค่ะ  และทำให้เรารู้ว่าคำย่อของวันที่ ที่ใช้ที่คืออะไร เดือนอะไร เป็นต้น
Déc. = décembre ธันวาคม, Janv. = janvier มกราคม, Fév. = février กุมภาพันธ์, Mars มีนาคม, Avril เมษายน, Mai พฤษภาคม, Juin มิถุนายน, Juil. = juillet กรกฎาคม และ Août สิงหาคม
การอ่านก็ให้อ่านแบบแถวตรงดิ่ง เช่น เดือนนี้เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ก็ให้ดูที่แถว Fév.  เลขที่เห็นในแต่ละช่อง คือ วันที่ ส่วนตัวอักษรหน้าตัวเลข คือ คำย่อของวัน จากวันจันทร์ถึงอาทิตย์

L = lundi วันจันทร์,  M = mardi วันอังคาร, Me = mercredi วันพุธ, J = jeudi วันพฤหัสบดี, V = vendredi วันศุกร์, S = samedi วันเสาร์, D = dimanche วันอาทิตย์
F คือ jour férié วันหยุด
จะเห็นว่าในตารางวันที่มันเป็นสี ๆ เนื่องจากแถบสีจะบ่งบอกว่าเราต้องไปดูตารางเวลารถช่วงไหน โดยจะแบ่งตามวันหยุดโรงเรียนเป็นหลัก
ที่สำคัญ คือ สีเขียว ซึ่งเป็นช่วงเดินรถปกติ (โรงเรียนเปิด) สีส้ม คือ ช่วงโรงเรียนปิด ช่วงนี่รถวิ่งน้อย ส่วนสีม่วง คือ วันอาทิตย์และวันหยุด ส่วนมากก็จะไม่วิ่ง มีวิ่งบ้างสำหรับการเดินทางไปเมืองใหญ่ ๆ แต่ว่านาน ๆ มาคัน
จากปฏิทิน ก็มาดูด้านตารางเวลาของรถบัสกันต่อค่ะ จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งออกเป็น 2 กล่องใหญ่ คือ บน ล่าง (ไม่ใช่เล่นหวยนะคะ อิอิ) บน คือ ตารางเวลาสำหรับการเดินรถปกติ คือ แถบสีเขียว ส่วนด้านล่าง คือ ตารางเวลาเดินรถช่วงโรงเรียนปิดค่ะ แถบส้ม
มาต่อกันที่รายละเอียดของตารางเวลารถบัสกันค่ะ
ในตารางเวลาจะบอกชื่อเมืองที่รถวิ่งผ่าน เริ่มจากเมืองแรก คือ ต้นทาง ส่วนเมืองสุดท้าย คือ ปลายทาง
ช่องถัดไปจะเป็นชื่อป้ายรถ บางป้ายจะมีเครื่องหมายคนนั่งรถเข็นด้วย นั่นหมายถึงว่า ป้ายนั้นผู้พิการ สามารถขึ้นได้ คือ มีทางสำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็นขึ้นได้ที่ป้าย ในภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า Point d'arrêt acessible aux personnes en fauteuil roulant  แถมต้องโทรไปสำรองที่นั่งก่อนเดินทาง ล่วงหน้า 1 วัน และจองได้แค่ 1 ที่ ต่อ 1 คันเท่านั้น Réservation obligatoire jusqu'à la veille du déplacement ... Attention : une seule place réservée par car
ให้สังเกตุคำว่า la veille อ่านผ่าน ๆ เหมือน vieille ที่แปลว่า แก่
la veille คือ วันก่อนหน้า  เช่น la veille de Noël หรือ Christmas Eve นั่นเอง
เวลาเดินทางไปไหนมาไหน เราต้องวางแผนการเดินทาง ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ต้องวางแผน เผื่อเวลาล่วงหน้า
จากตัวอย่าง มีนัดในเมือง Molsheim เวลา 9 โมงเช้า ก็ให้ดูที่ป้ายปลายทางที่จะลง ว่ามี 9 โมงไหม ไม่มีก็หาเวลาใกล้เคียงสุด ในที่นี่ ลงที่ป้าย La Poste เวลาใกล้เคียง 9 โมง คือ 8.37 จากนั้นก็ย้อนขึ้นไปดูเวลาที่ป้ายที่เราจะขึ้น เช่น Colombe เวลา 8.13  เป็นต้น
แล้ว (1) คือ อะไร อันนี้เพิ่งเจอมากับตัวเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี่เอง คือ มาดามไปเรียนภาษา แล้วต้องขึ้นรถกลับตอนเที่ยง พอกางเวลามาดู 12.18 (1) ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร ก็เดินข้ามถนนไปรอที่ป้ายเดิมที่เคยขึ้นทุกครั้งเวลากลับ ยืนรอไป รอมาก็ไปส่องดูตารางรถที่ป้ายอีก ทีนี้หาอ่านว่าไอ้วงเล็บ 1 คืออะไร
อ่านไปแบบเข้าใจคร่าว ๆ ว่าให้ไปขึ้นรถที่ป้ายที่ไป Molsheim
 ทีนี้มาดามก็ต้องรีบข้ามถนนไปยืนรออีกฝาก ซึ่งปกติเป็นป้ายที่ลงสำหรับขาเข้าเมือง ไม่ใช่ขากลับบ้าน ยืนรอแบบงง งวย ส่องมันทั้ง 2 ฟาก ถ้ามาฟากเดิม ก็จะรีบข้ามกลับไป 
มีสาวฝรั่งเศสยืนรอรถเหมือนกัน แต่ยืนฟากป้ายขากลับปกติ สักพัก ชีสังเกตุเห็นมาดาม ชีเลยข้ามมาถาม เลยได้คุยฝรั่งเศสนิดหน่อย และต่อด้วยอังกฤษ แหะ แหะ
อะไรที่มีหมายเหตุต่อท้าย ต้องไปหาอ่านข้อความอธิบายโดยด่วน ไม่งั้นอาจหลงทิศหลงทาง ตกรถไม่รู้ตัว เช่น (1) La prise en charge et la dépose des voyageurs s'effectue au poteau d'arrêt "Direction Molsheim" (1) อันนี้ หมายถึง รับส่งผู้โดยสารที่ป้ายขาเข้า Molsheim คือ ให้เงยหน้าดูบนป้ายรถ มันจะเขียนว่าไปไหน และอย่าลืมดูป้ายหน้ารถด้วย มันจะมีบอกชื่อเมืองปลายทางด้วย

ช่องสีฟ้าและสีม่วงที่แทรกมา มันคือ อะไร งง มาก!!!
Correspondance เป็นตารางเวลาของรถไฟ และรถบัสสายอื่น คือ เหมือนกับการที่เรานั่งรถไฟฟ้า BTS แล้วไปต่อ MRT อะไรประมาณนี่ค่ะ
Coresspondance TER คือ ต่อรถไฟไป Strasbourg หรือจาก Strasbourg มาต่อบัส
Correspondance ligne ... คือ ต่อรถบัสอีกสาย ในที่นี่ คือ ต่อสาย 230 เข้าเมือง Strasbourg
ง่าย ๆ คือ คำว่า correspondance คือ เชื่อมโยง เกี่ยวเนื่องกัน
ท้ายสุด ก็เรื่อง tarification หรือ อัตราค่าโดยสาร ส่วน tarif ก็คือ ค่าโดยสาร
un billet คือ ตั๋ว
Billet unitaire ตั๋วเที่ยวเดียว
Carnet 10 voyages ตั๋ว 10 เที่ยว (un carnet หมายถึง เล่ม สมุดเป็นเล่ม ส่วน le voyage คือ การเดินทาง)


Pass groupe journée เป็นตั๋วกลุ่ม ใช้ได้ทั้งวัน (กลุ่ม 2-5 คน ใช้ทั้งวันถึงเที่ยงคืน)
Abonnement mensuel ตั๋วเดือน (mensuel รายเดือน)
Abonnement annuel ตั๋วปี

CTS ย่อมาจาก Compagnie des transports Strasbourgeois คือ คมนาคมขนส่งของชาว Strasbourg ที่มีทั้งรถบัส และรถราง le tram
TER ย่อมาจาก Transport Express Régional เช่น รถไฟ SNCF


No comments:

Post a Comment