Thursday, February 18, 2016

อัพเดทเรื่องการขอรับสิทธิประกันสังคม

เนื่องจากวานซืนมีสะใภ้ฝรั่งเศสท่านหนึ่งติดต่อสอบถามมาดามเรื่องขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ยื่นขอทำ Carte Vitale มาดามก็เลยกลับไปย้อนดูโพสเก่าที่เคยแชร์ไว้ ปรากฎว่าลิ้งค์สำหรับโหลดฟอร์มขอรับสิทธิประกันสังคมนั้น ใช้ไม่ได้ (ตายละ ! นึกในใจ มันเกิดอะไรขึ้น) เลยเข้าไปหาแบบฟอร์มในเพจของ AMELI (l'Assurance maladie) หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เลยได้อ่านข้อมูลเรื่องการปฏิรูปกฎหมายสำหรับการประกันสังคม (จริง ๆ ก็ทราบว่าจะมีการบังคับใช้ประกันสุขภาพแบบใหม่ตั้งแต่ต้นปี ดูตามโฆษณาขายประกันนะคะ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายนัก)

มาดามเลยขอมาอัพเดทถึงการขอรับสิทธิประกันสังคมที่ได้มีการปฏิรูปใหม่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับสะใภ้ใหม่ ๆ ที่กำลังจะย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศส


ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 (ค.ศ. 2016) ประกันสังคมจะคุ้มครองแบบครอบคลุมแบบจักรวาล หรือ la protection universelle maladie  (PUMA) หมายถึง บุคคลที่บรรลุนิติภาวะทุกคน (18 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ถึงแม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพ  จะได้รับความคุ้มครอง
พูดง่าย ๆ ทุกคนที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสสามารถได้รับสิทธิคุ้มครองด้านการรักษาสุขภาพ และได้ยกเลิกการขอพ่วงใช้สิทธิ หรือใช้สิทธิประกันสังคมของสามี  คือ ไม่ต้องยื่นขอความคุ้มครองเพิ่มเติมอีกแล้ว จากเดิมที่ต้องกรอกแบบฟอร์มขอใช้สิทธิร่วมกับสามี หรือ ayant droit นั้น ไม่มีอีกต่อไป ดังนั้น ข้อมูลที่เคยนำมาแชร์ในปี 2014-2015 นั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องแบบฟอร์มในการขอ Carte Vitale และยกเลิก CMU หรือ la couverture maladie universelle de base

ก่อนการปฏิรูปกฎหมายนี้ คนที่สามารถมี Carte Vitale ได้ คือ คนที่มีงานทำ  และมีการกำหนดระยะเวลาด้วยว่าต้องมีระยะเวลาในการทำงานขั้นต่ำเท่าใด จึงจะมีสิทธิได้ใช้สิทธิประกันสังคม ส่วนภรรยาที่ไม่ได้ทำงาน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำต้องขอใช้สิทธิร่วมกับสามี
กรณีที่ไม่มีงานทำ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่ได้นิ่งดูดาย รัฐจัดให้มี CMU หรือ la couverture maladie universelle de base สำหรับผู้ที่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ CMU  ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 โดยจะใช้ PUMA หรือ la protection universelle maladie แทน

CMU ต่างจาก PUMA อย่างไร
CMU เป็นสิทธิประกันสังคมสำหรับผู้ที่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
PUM เป็นสิทธิประกันสังคมสำหรับทุกคนที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ว่าจะมีงานทำ หรือไม่มี ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพ ลี้ภัยสงครามมา ต่างก็มีสิทธิขอรับประโยชน์ใช้ประกันสังคมได้
PUM เป็นสิทธิเฉพาะบุุคคล คือ ไม่มีการใช้สิทธิพ่วง ยกเว้น ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ ยังไม่ถึง 18 ปี ก็ยังต้องใช้สิทธิของผู้ปกครองไป (อายุ 16 ปี สามารถยื่นเรื่องขอได้)
สำหรับคนที่ใช้สิทธิร่วมกับสามีไปแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถใช้สิทธินั้นตามเดิมได้ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนมาใช้สิทธิของตัวเอง ไม่อยากใช้สิทธิร่วมกับสามีอีกต่อไป ก็ต้องยื่นเรื่องขอสิทธิใหม่ แต่คงไม่มีใครอยากขอใหม่ เพราะต้องเตรียมเอกสารใหม่ทั้งหมดอีกรอบ!

ข้อมูลที่นำมาอัพเดทให้ทราบนี้ นำมาจากเว็บไซท์ของ L’Assurance Maladie  หรือ AMELI สามารถอ่านข้อมูลเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ที่ http://www.ameli.fr/assures/droits-et-demarches/par-situation-professionnelle/vous-etes-sans-emploi/vous-n-avez-pas-d-activite-professionnelle_vaucluse.php



คุณสมบัติสำหรับผู้ที่จะขอรับสิทธิประกันสังคม
·      ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส หรือ
·      ต้องอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส คือ อยู่มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป (ต้องอยู่แบบไม่ได้เข้า ๆ ออก ๆ) อยู่แบบประจำถาวรก็ว่าได้ และต้องมีวีซ่าหรือ Carte de séjour
ทั้งนี้เงื่อนไขเวลาอยู่ประจำในประเทศฝรั่งเศสมากกว่า 3 เดือน จะไม่สามารถปรับใช้กับบุุคคลดังต่อไปนี้
*      ผู้ที่ทำสัญญาเข้ามาฝึกงานในฝรั่งเศส เช่น แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม งานวิจัย;
*      ผู้ที่ได้รับประโยชน์เกี่ยวกับครอบครัว ความช่วยเหลือทางสังคม ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย หรือผู้สูงอายุ;
*      ผู้อพยพลี้ภัย หรือขอลี้ภัย;
*      อาสาสมัครระหว่างประเทศ;
*      คู่สมรส PACS

สำหรับกรณีคู่สมรสต่างชาติ แบบสะใภ้ฝรั่งเศส จะทำอย่างไร
ขั้นตอนในการยื่นขอ Carte Vitale และรับสิทธิประกันสังคม มีดังนี้
1.    ให้กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม สามารถโหลดได้ตามลิ้งค์ http://www.ameli.fr/fileadmin/user_upload/formulaires/735.cnamts.pdf

 แบบฟอร์มขอรับสิทธิประกันสังคม จะมี 2 หน้า หน้าแรกจะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล

 


ในแบบฟอร์มหน้าแรก ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่จะขอรับสิทธิประกันสังคม (เมื่อโหลดไฟล์แบบฟอร์มมาแล้ว สามารถคีย์ข้อมูลลงในแบบฟอร์มแล้วพิมพ์ออกมาได้) ในส่วนแรกของแบบฟอร์ม มีดังนี้
  • กรอกชื่อ โดยให้กรอกนามสกุลเดิม (ตามใบสูติบัตร) ต่อด้วยนามสกุลสามี และตามด้วยชื่อจริง (ในการกรอกนามสกุล ต้องเขียน หรือ พิมพ์ด้วยตัวใหญ่หมด ส่วนชื่อจริงจะเขียนตัวใหญ่แค่ตัวอักษรตัวแรกเท่านั้น)
  • ข้ามมากรอกวันเดือนปีเกิดเลย เพราะเราเป็นต่างชาติ ไม่มีหลายเลขประกันสังคมเหมือนคนฝรั่งเศส ในการกรอกวันเดือนปีเกิด จะกรอกแบบ XX XX XXXX คือ วันที่ เดือน และ ค.ศ. เช่น 09 04 1975 เกิดวันที่ 9 เดือนเมษายน ค.ศ. 1975 (ดูตามหนังสือเดินทางเอา)
  • กรอกชื่อเมืองที่เกิด ตามด้วยชื่อประเทศ คือ THAÏLANDE
  • สัญชาติ ให้ติ๊กที่ช่อง autre คือ อื่น ๆ และเขียนว่า Thaïlandaise สัญชาติไทย
  • กรอกที่อยู่ คือ เลขที่บ้าน ชื่อถนน  รหัสไปรษณีย์ และชื่อเมือง (การเขียนชื่อเมืองต้องเขียนตัวใหญ่หมด)
  • ข้ามข้อที่บอกว่าถ้าไม่มีที่อยู่ส่วนบุคคล ให้กรอกที่อยู่องค์กร อาจจะเป็นที่ทำงาน ที่เลือกให้เป็นที่อยู่
  • กรอกอีเมล์ที่จะให้ติดต่อ และเบอร์โทรศัพท์
  • ติ๊กเลือกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับที่อีเมล์ที่ให้ไว้นี้หรือไม่

 ส่วนถัดไป คือ การลงนาม หรือเซ็นชื่อ

หน้าที่ 2 ของแบบฟอร์ม จะเป็นรายการเอกสารที่ต้องแนบ
2.    แนบเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม (ซึ่งบังคับใช้สำหรับทุกกรณี) แต่สำหรับชาวต่างชาติ แบบสะใภ้ฝรั่งเศส เอกสารที่ต้องเตรียม (รายการเอกสารไม่ได้ต่างจากแบบฟอร์มตามกฎหมายเดิม) มีดังนี้ 
     2.1 สำเนาใบสูติบัตรที่มีการรับรองจากกรมการกงสุล พร้อมใบแปลจากผู้แปลที่มีรายชื่อขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศส 
รายชื่อผู้แปล  http://www.thaiembassy.fr/wp-content/uploads/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%AA.pdf
 และ http://www.tsp.online.fr/spip.php?article92
 
**เพิ่มเติม สำหรับใบสูติบัตร เนื่องจากประเทศไทยเราจะให้ฉบับจริงกับเราไว้ จึงไม่ต้องไปขอกับเขตที่เราเกิดทุกครั้งเหมือนคนฝรั่งเศส เพราะเอกสารฝรั่งเศสจะมีอายุการใช้ได้แค่ 3 เดือน  ส่วนใบสูติบัตรไทยไม่มีวันหมดอายุ  จึงอาจจะเกิดปัญหาเรื่องเอกสาร โดยเฉพาะใบสูติบัตรกับบาง Préfecture หรือส่วนงานราชการของฝรั่งเศส ที่มักจะไม่เข้าใจเรื่องอายุของเอกสารของไทย
ดังนั้น จึงควรสำเนาใบ Certifcat de coutume ที่ขอจากสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ตอนที่ใช้จดทะเบียนสมรสในฝรั่งเศส ถ้าไม่มีก็เข้าไป copy จากกระทู้บ้านสะใภ้ฝรั่งเศส ซึ่งคุณ Clementine เป็นเจ้าของสำเนาเอกสารและเป็นผู้โพสแชร์ให้นำไปใช้ http://www.ladyinter.com/forum_posts.asp?TID=20296

 
ใน Certificat de coutume หรือ ใบประเพณีที่ออกโดยสถานทูตไทยฯ นี้ จะระบุไว้ชัดเจนว่าใบสูติบัตรไทย (ฉบับจริง) เป็นเอกสารสำคัญ ที่ออกให้ฉบับเดียวสำหรับการแจ้งเกิด การสมรสและหย่าจะไม่ปรากฎในใบสูติบัตร “En Thaïlande, l’acte de naissance origine est une pièce unique, il est délivré qu’une seule fois à la décaration de naissance. Le mariage est le divorce ne sont pas mentionnés sur l’acte de naissance.”

สำหรับคนที่เปลี่ยนชื่อมา คือ ชื่อไม่ตรงกับใบสูติบัตร ต้องรับรองใบเปลี่ยนชื่อกับกรมการกงสุล และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการรับรองแล้ว พร้อมแปล (เพราะในทะเบียนบ้านจะมีการขีดฆ่าชื่อเดิมออกไป พร้อมมีลายเซ็นเจ้าหน้าที่เขต) และต้องเขียนจดหมายอธิบายว่ากฎหมายไทยอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อได้

พระราชบัญญัติ ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

มาตรา 16 ผู้มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อรอง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าชื่อตัว หรือชื่อรองที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้อนุญาตและออก หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อให้



2.2 สำเนาหนังสือเดินทาง หน้าแรก
2.3 สำเนา Stamp OFII หรือ สำเนา carte de séjour

ทั้งนี้ อาจมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้
สำหรับการยืนยันว่าอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจริง เช่น สัญญาเช่าบ้าน บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ สลิปเงินเดือน ทั้งนี้ต้องเตรียมเอกสารย้อนหลัง 3 เดือน
กรณีที่ไม่ได้เป็นผู้เช่าบ้าน หรือเจ้าของบ้าน ให้สามีหรือเจ้าของบ้านเขียนหนังสือรับรองว่าเราอาศัยอยู่จริง 

3.    นำแบบฟอร์มและเอกสารต่าง ๆ  หรือไปยื่น ณ สำนักงาน l’Assurance Maladie ที่ขึ้นตรง ด้วยตนเองพร้อมสามี หรือจะจัดส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
4.    รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาว่าต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่
5.    มีจดหมายจากศูนย์ทำบัตร Carte Vitale ให้ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด พร้อมแจ้งให้ติดรูปถ่ายและแนบเอกสารกลับไป
รายการเอกสารที่ต้องส่งไป ซึ่งระบุไว้ในหนังสือแนบ มีดังนี้
·       รูปถ่าย สี ขนาด 2x2" (ลอกกระดาษบนหนังสือออก และแปะรูปลงไป)
·       สำเนาหนังสือเดินทาง
·       สำเนาหน้าวีซ่าและหน้า Titre de séjour ที่ OFII ประทับให้ (มาดามส่งเผื่อไป)
6.    รอ Carte Vitale ประมาณ 15 วันทำการ หรือ 3 สัปดาห์


ผู้ที่มีสัญชาตินอกเหนือ L’Espace économique européen หรือ EEE หรือไม่ได้ถือสัญชาติในกลุุ่มประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรปและสวิส เช่น สะใภ้ฝรั่งเศส จำต้องมีหลักฐานรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส นั่นคือ Titre de séjour ที่ยังไม่หมดอายุ (กรณีที่ยังไม่มี Titre de séjour สามารถนำหลักฐานใบนัดหมายจาก Préfecture หรือใบแทนสำหรับ carte de séjour แทน)
รายชื่อประเทศในสหภาพยุโรป : เยอรมนี ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย ไซปรัส โครเอเชีย เดนมาร์ก สเปน เอสโตเนีย ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลิกเตนสไตน์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สาธารณรัฐเช็กโรมาเนีย อังกฤษ สโลวาเกีย สโลเวเนีย สวีเดน
ถ้าผู้ที่มีสัญชาตินอกเหนือ EEE หรือไม่ได้ถือสัญชาติในกลุุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสวืส ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแบบถาวร คือ เดินทางเข้าออกบ่อย ไม่ได้อยู่นาน ก็ต้องขอรับความคุ้มครองแบบความช่วยเหลือทางด้านการรักษาแห่งรัฐ หรือ l’aide médicale d’Etat (AME)

* Liste des États de l'EEE : Allemagne, Autriche, Belgique, Bulgarie, Chypre, Croatie, Danemark, Espagne, Estonie, France, Finlande, Grèce, Hongrie, Irlande, Islande, Italie, Lettonie, Liechtenstein, Lituanie, Luxembourg, Malte, Norvège, Pays-Bas, Pologne, Portugal, République tchèque, Roumanie, Royaume-Uni, Slovaquie, Slovénie, Suède.





Thursday, February 11, 2016

Apprendre le français: ตารางรถบัส

การเรียนภาษา ไม่ได้อยู่แค่การท่องตำรา อ่านแกรมม่า ท่องศัพท์ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตจริงของเราเองด้วย โดยการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว สิ่งที่เราใช้ หรือหยิบจับ ที่มาดามเกริ่นมานี่ คือ พยายามโยงให้เข้าเรื่องที่จะมาแชร์สำหรับวันนี้ นั่นคือ การเรียนภาษาฝรั่งเศสจากตารางรถบัส

แน่นอนที่บางคนอาจจะไม่เคยนั่งรถบัส เพราะขับรถเอง หรือนั่งรถไฟใต้ดิน หรือรถราง  แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่ได้อยู่ในกรุงปารีส แถมไม่มีรถขับ ก็ต้องเดินทางกับรถบัส ซึ่งไม่เหมือนรถเมล์บ้านเราอย่างแน่นอน เพราะรถบัสที่นี่มาตรงเวลา เว้นเสียแต่กรณีมีอุบัติเหตุบนท้องถนน กีดขวางการจราจร ส่งผลให้รถติดยาว รถบัสก็จะมาช้าได้ (เคยเจอกับตัวเองมาหนึ่งหน รถติดเป็นชั่วโมง ถนนปิด เนื่องจากมีอุบัติเหตุ รถผ่านไปไม่ได้ ต้องอ้อมโลก จากที่ต้องถึงบ้าน 10 นาที ปาไปเป็นชั่วโมง)

การอ่านตารางรถได้จะช่วยชีวิตเราได้แน่นอน ช่วยในการเดินทาง ไม่หลง ไม่ตกรถ ในการวางแผนสำหรับการเดินทาง และพิสูจน์ได้ว่าเราก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสในชีวิตประจำวันได้

ตัวอย่างที่มาดามนำมาแชร์นี้ เป็นตารางรถบัสสาย 235 ในเครือ 67 Réseau 67 สำหรับเขต 67  Bas-Rhin นะคะ  ส่วนเขตอื่นเป็นอย่างไร มาดามไม่ทราบค่ะ มาดามอยู่เขต 67 สิ่งที่หยิบยกมาพูดก็จะจำกัดแค่ในเขต 67 นี้เท่านั้น แต่เขตอื่นก็สามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ เพราะคำศัพท์ก็ใช้เหมือนกัน จะต่างกันก็แค่เงื่อนไขบางอย่าง หรือกฏระเบียบบางอย่าง

มาดูหน้าตาของตารางรถบัสกันค่ะ les horaires de bus

จะไปเอาตารางรถบัสจากไหน? มาดามชอบไปหยิบตารางรถบัสจาก La mairie มาเก็บไว้ที่บ้านและพกติดตัวเสมอ เพื่อจะได้ดูเวลารถบัส บางครั้งก็หยิบในรถเลย ตรงทางขึ้น และที่แน่นอน สามารถหยิบได้ทุกสายที่ la gare หรือสถานีรถบัส
ทำไมต้องพกติดตัว? มีวันนึงที่มาดามไปเรียนภาษาฝรั่งเศส แล้วปรากฎว่าเค้างดสอน มาดามไม่ทราบ พอรุ้นี่แทบจะวิ่งกลับไปที่ป้ายรถเลย เพราะบางสายไม่ได้วิ่งทุกชั่วโมง นาน ๆ วิ่งที ถ้าพลาดก็ต้องรอไปอีกหลายชั่วโมง ที่เมืองเล็ก ๆ ก็ไม่มีที่ให้เดิน หรือนั่งเล่น นั่งรอ นาน ๆ ยิ่งถ้าหน้าหนาว หรือฝนตก จะไปรอที่ไหนกัน ถ้าพกตารางรถไว้กับตัวก็หยิบมากางดูว่ามีรถมากี่โมง ไปถึงป้ายทันไหม อย่างมาดามต้องต่อรถด้วย ก็ต้องพกตารางรถ 2 สายเลย 555 ชีวิตต่างแดน แถมบ้านนอกอีก
ตารางรถจะมี 2 หน้า สำหรับขาไปและขากลับ คำว่า Ligne คือ สาย จะตามด้วยหมายเลข และชื่อเส้นทาง จากต้นทาง ถึง ปลายทาง และต้องสังเกตุที่หน้ารถด้วย ที่ป้ายไฟบนหน้ารถจะบอกชื่อเมืองปลายทางด้วยค่ะ

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางแบบย่อให้ดูด้วยว่าจากไหน ไปไหน ผ่านที่ไหนบ้าง และระบุอีกด้วยว่าตารางรถนี้ใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ ปกติก็จะใช้ดูได้ 1 ปี นี่ใช้ได้ถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นก็ต้องไปหยิบมาใหม่ เพราะอาจมีการลดจำนวนการวิ่งในบางสายก็ได้ค่ะ
สิ่งที่สำคัญยิ่งในตารางรถบัส นั่นคือ ตารางเวลา ในแผ่นพับจะมีปฏิทินระบุวันที่และแถบสีให้ดูสำหรับแต่ละวันเลยค่ะ  และทำให้เรารู้ว่าคำย่อของวันที่ ที่ใช้ที่คืออะไร เดือนอะไร เป็นต้น
Déc. = décembre ธันวาคม, Janv. = janvier มกราคม, Fév. = février กุมภาพันธ์, Mars มีนาคม, Avril เมษายน, Mai พฤษภาคม, Juin มิถุนายน, Juil. = juillet กรกฎาคม และ Août สิงหาคม
การอ่านก็ให้อ่านแบบแถวตรงดิ่ง เช่น เดือนนี้เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ก็ให้ดูที่แถว Fév.  เลขที่เห็นในแต่ละช่อง คือ วันที่ ส่วนตัวอักษรหน้าตัวเลข คือ คำย่อของวัน จากวันจันทร์ถึงอาทิตย์

L = lundi วันจันทร์,  M = mardi วันอังคาร, Me = mercredi วันพุธ, J = jeudi วันพฤหัสบดี, V = vendredi วันศุกร์, S = samedi วันเสาร์, D = dimanche วันอาทิตย์
F คือ jour férié วันหยุด
จะเห็นว่าในตารางวันที่มันเป็นสี ๆ เนื่องจากแถบสีจะบ่งบอกว่าเราต้องไปดูตารางเวลารถช่วงไหน โดยจะแบ่งตามวันหยุดโรงเรียนเป็นหลัก
ที่สำคัญ คือ สีเขียว ซึ่งเป็นช่วงเดินรถปกติ (โรงเรียนเปิด) สีส้ม คือ ช่วงโรงเรียนปิด ช่วงนี่รถวิ่งน้อย ส่วนสีม่วง คือ วันอาทิตย์และวันหยุด ส่วนมากก็จะไม่วิ่ง มีวิ่งบ้างสำหรับการเดินทางไปเมืองใหญ่ ๆ แต่ว่านาน ๆ มาคัน
จากปฏิทิน ก็มาดูด้านตารางเวลาของรถบัสกันต่อค่ะ จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งออกเป็น 2 กล่องใหญ่ คือ บน ล่าง (ไม่ใช่เล่นหวยนะคะ อิอิ) บน คือ ตารางเวลาสำหรับการเดินรถปกติ คือ แถบสีเขียว ส่วนด้านล่าง คือ ตารางเวลาเดินรถช่วงโรงเรียนปิดค่ะ แถบส้ม
มาต่อกันที่รายละเอียดของตารางเวลารถบัสกันค่ะ
ในตารางเวลาจะบอกชื่อเมืองที่รถวิ่งผ่าน เริ่มจากเมืองแรก คือ ต้นทาง ส่วนเมืองสุดท้าย คือ ปลายทาง
ช่องถัดไปจะเป็นชื่อป้ายรถ บางป้ายจะมีเครื่องหมายคนนั่งรถเข็นด้วย นั่นหมายถึงว่า ป้ายนั้นผู้พิการ สามารถขึ้นได้ คือ มีทางสำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็นขึ้นได้ที่ป้าย ในภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า Point d'arrêt acessible aux personnes en fauteuil roulant  แถมต้องโทรไปสำรองที่นั่งก่อนเดินทาง ล่วงหน้า 1 วัน และจองได้แค่ 1 ที่ ต่อ 1 คันเท่านั้น Réservation obligatoire jusqu'à la veille du déplacement ... Attention : une seule place réservée par car
ให้สังเกตุคำว่า la veille อ่านผ่าน ๆ เหมือน vieille ที่แปลว่า แก่
la veille คือ วันก่อนหน้า  เช่น la veille de Noël หรือ Christmas Eve นั่นเอง
เวลาเดินทางไปไหนมาไหน เราต้องวางแผนการเดินทาง ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ต้องวางแผน เผื่อเวลาล่วงหน้า
จากตัวอย่าง มีนัดในเมือง Molsheim เวลา 9 โมงเช้า ก็ให้ดูที่ป้ายปลายทางที่จะลง ว่ามี 9 โมงไหม ไม่มีก็หาเวลาใกล้เคียงสุด ในที่นี่ ลงที่ป้าย La Poste เวลาใกล้เคียง 9 โมง คือ 8.37 จากนั้นก็ย้อนขึ้นไปดูเวลาที่ป้ายที่เราจะขึ้น เช่น Colombe เวลา 8.13  เป็นต้น
แล้ว (1) คือ อะไร อันนี้เพิ่งเจอมากับตัวเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี่เอง คือ มาดามไปเรียนภาษา แล้วต้องขึ้นรถกลับตอนเที่ยง พอกางเวลามาดู 12.18 (1) ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร ก็เดินข้ามถนนไปรอที่ป้ายเดิมที่เคยขึ้นทุกครั้งเวลากลับ ยืนรอไป รอมาก็ไปส่องดูตารางรถที่ป้ายอีก ทีนี้หาอ่านว่าไอ้วงเล็บ 1 คืออะไร
อ่านไปแบบเข้าใจคร่าว ๆ ว่าให้ไปขึ้นรถที่ป้ายที่ไป Molsheim
 ทีนี้มาดามก็ต้องรีบข้ามถนนไปยืนรออีกฝาก ซึ่งปกติเป็นป้ายที่ลงสำหรับขาเข้าเมือง ไม่ใช่ขากลับบ้าน ยืนรอแบบงง งวย ส่องมันทั้ง 2 ฟาก ถ้ามาฟากเดิม ก็จะรีบข้ามกลับไป 
มีสาวฝรั่งเศสยืนรอรถเหมือนกัน แต่ยืนฟากป้ายขากลับปกติ สักพัก ชีสังเกตุเห็นมาดาม ชีเลยข้ามมาถาม เลยได้คุยฝรั่งเศสนิดหน่อย และต่อด้วยอังกฤษ แหะ แหะ
อะไรที่มีหมายเหตุต่อท้าย ต้องไปหาอ่านข้อความอธิบายโดยด่วน ไม่งั้นอาจหลงทิศหลงทาง ตกรถไม่รู้ตัว เช่น (1) La prise en charge et la dépose des voyageurs s'effectue au poteau d'arrêt "Direction Molsheim" (1) อันนี้ หมายถึง รับส่งผู้โดยสารที่ป้ายขาเข้า Molsheim คือ ให้เงยหน้าดูบนป้ายรถ มันจะเขียนว่าไปไหน และอย่าลืมดูป้ายหน้ารถด้วย มันจะมีบอกชื่อเมืองปลายทางด้วย

ช่องสีฟ้าและสีม่วงที่แทรกมา มันคือ อะไร งง มาก!!!
Correspondance เป็นตารางเวลาของรถไฟ และรถบัสสายอื่น คือ เหมือนกับการที่เรานั่งรถไฟฟ้า BTS แล้วไปต่อ MRT อะไรประมาณนี่ค่ะ
Coresspondance TER คือ ต่อรถไฟไป Strasbourg หรือจาก Strasbourg มาต่อบัส
Correspondance ligne ... คือ ต่อรถบัสอีกสาย ในที่นี่ คือ ต่อสาย 230 เข้าเมือง Strasbourg
ง่าย ๆ คือ คำว่า correspondance คือ เชื่อมโยง เกี่ยวเนื่องกัน
ท้ายสุด ก็เรื่อง tarification หรือ อัตราค่าโดยสาร ส่วน tarif ก็คือ ค่าโดยสาร
un billet คือ ตั๋ว
Billet unitaire ตั๋วเที่ยวเดียว
Carnet 10 voyages ตั๋ว 10 เที่ยว (un carnet หมายถึง เล่ม สมุดเป็นเล่ม ส่วน le voyage คือ การเดินทาง)


Pass groupe journée เป็นตั๋วกลุ่ม ใช้ได้ทั้งวัน (กลุ่ม 2-5 คน ใช้ทั้งวันถึงเที่ยงคืน)
Abonnement mensuel ตั๋วเดือน (mensuel รายเดือน)
Abonnement annuel ตั๋วปี

CTS ย่อมาจาก Compagnie des transports Strasbourgeois คือ คมนาคมขนส่งของชาว Strasbourg ที่มีทั้งรถบัส และรถราง le tram
TER ย่อมาจาก Transport Express Régional เช่น รถไฟ SNCF


Wednesday, February 10, 2016

เรื่องราวเกี่ยวกับ Pad Thaï

แวะมาทักทายยามบ่ายค่ะ
ตอนเช้ามาดามไป present เรื่อง Pad Thaï ในห้องเรียนมาค่ะ แต่ไม่ได้ทำอาหารไปให้ฝรั่งชิม แบกไม่ไหว ไหนจะ notebook ไหนจะอาหาร เลยขอ present อย่างเดียว
มาดามทำ present โดยใช้โปรแกรม PowerPoint พร้อมเปิด background เพลงไทยเดิม ประกอบไปด้วยระหว่างบรรยาย เนื้อหาและรูปภาพก็นำมาจาก internet นี่ละค่ะ
แรงบันดาลใจมาจาก clip amazing Pad Thai เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ มาดามเลยไปค้นหาข้อมูลทั้งไทย ทั้งฝรั่งเศส และก็ทำ slides presentation นั่งเขียนสคริปต์ นั่งท่อง สองถึงสามวันได้ ผลออกมาก็โอเค ตอนนี้ใครมาถามเรื่องผัดไทย มาดามสามารถอธิบายได้เป็นฉาก ๆ
อะไรที่เป็นเรื่องราว เป็น story มันดูน่าสนใจมาก แนวคิดนี้มาดามได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น ร้านอาหารดังๆ ในญี่ปุ่น มักชอบเสนอ story เพื่อดึงดูดความสนใจผู้คน


ด้าน script นี่ ก็ค้นหามาจาก internet ทั้ง wiki และหลาย ๆ เพจ และต้องขอขอบคุณสามีที่ช่วยแก้ไขเรื่องแกรมม่าให้ แก้กันหลายรอบ คือ ตอนแรกกะจะพูดสดตามหัวข้อใน slide ไป ๆ มา ๆ มีสคริปต์ช่วยก็จะดีมาก เพราะจะฝึกออกเสียงไปด้วย  แถมมาดามแทรกคำถามไปเพื่อให้มีการโต้ตอบระหว่างการนำเสนอ ไม่ใช่นั่งฟังเพลิน ๆ (ตามหลักการนำเสนอที่ดี ควรให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วย)

ทุกคนดูแล้วหิว อยากทานอาหารไทย 555 เสียดายมากที่ไม่ได้ทำไป และผู้สอนชอบประโยคที่ว่า "Sautez-le pas, Sautez le plat!" มาก อันนี้ ขอยกความดีให้สามี เพราะลุงแกมาเปลี่ยนของอิป้ามาดามจากเดิมแค่  "Sautez-le!"  พอเปลี่ยนแล้ว เอ้ย บระเจ้า มันยอดมาก แถมมีการเล่นคำ ระหว่าง pas และ plat (pas ในที่นี้ ไม่ใช่ pas ในประโยคปฏิเสธ แต่หมายถึง ก้าว เป็นคำนาม เพศชาย ส่วน plat ก็ จาน หรือ dish ในภาษาอังกฤษ)

ตั้งใจทำ presentation มาก ผู้สอนยังออกปากชม (อุตส่าห์ไปหาเพลงไทยเดิมมาประกอบด้วย แถมมาดามเปิดฟังทุกวันเลย ผ่อนคลาย)

แถมเวอร์ชั่นที่มีเสียงบรรยายของมาดามคร้า อ่านผิด อ่านถูก ออกเสียงไม่ถูกต้อง อย่าว่ากันนะคะ ได้แค่นี่ละ เพราะมีปัญหากับการออกเสียงภาษาฝรั่งเศสบางตัวมาก เช่น u