Friday, April 29, 2016

Apprendre le français : Dans la salle de bains

สวัสดีคร้า และสุขสันต์วันศุกร์จร้า  Bon vendredi à tous!
วันนี้มาดามขอมาแชร์เรื่องศัพท์ในห้องน้ำ และกริยาที่ใช้ทำภารกิจต่างๆ ภายในห้องน้ำค่ะ ก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากวีคนี้มาดามเพิ่งเรียนรู้เรื่องนี้มาจากคลาส เลยอยากนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้แก่คนอื่น เผื่อมีคนสนใจ (หมายเหตุ รูปภาพที่อธิบายคำศัพท์ มาดามไม่ได้ทำเอง แค่พิมพ์คำแปลให้เท่านั้น ทำให้มีคำศัพท์ที่ซ้ำกันบ้าง ในแต่ละรูปจะมีลิ้งค์บอกว่านำมาจากที่ไหน สามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ค่ะ)






มาถึงไฮไลท์ที่มาดามอยากนำเสนอมาก นั่นคือ กริยาในกลุ่ม pronominal หรือ les verbes pronominaux เป็นกริยาที่ขึ้นต้นด้วย se + verbe เช่น V. se  laver อาบน้ำ  บางคนอาจจะยังผันกริยากลุ่มนี้ไม่คล่อง หรือยังไม่เข้าใจว่ากริยากลุ่มนี้ คือ อะไร ง่าย ๆ เลย เป็นกริยาที่บ่งบอกถึงการกระทำของประธาน โดยเน้นว่าเป็นคนทำเอง ทำด้วยตนเอง ดังนั้น จึงมีการเพิ่มตัว pronom réfléchi เข้าไป ซึ่งต้องใช้ตามประธานในประโยคเลย ลองมาดูกันว่ากริยาที่เราใช้ในห้องน้ำในกลุ่ม pronominal นี้ มีอะไรบ้าง

มาดามขออธิบายการผัน verbe pronominal 
  • กริยาที่มี se คือ กริยาในกลุ่ม pronominal เราจะต้องผัน 2 อย่าง คือ 1) ผันหรือเปลี่ยน se ให้เป็น pronom réfléchi ตามประธานในประโยค 2) ผันกริยาตามประธาน
  • ต้องจำตัว pronom réfléchis ของประธานให้ได้ นั่นคือ Je-me, Tu-te, Il/ Elle-se, Nous-nous, Vous-vous, Ils/Elles-se (เชอเมอ ตูเตอ อิลแอลเซอ นูนู วูวู อิลแอลเซอ) ท่องไปแบบนี้จำได้แน่นอน
  • ถ้า me, te, se นำหน้ากริยาที่ขึ้นต้นด้วยสระ หรือ h muet ให้ลดรูปเป็น m', t', s' (จำว่า me, te, se ชนสระต้องลดรูป)
  • ในกาลผสมต่าง ๆ les temps composés จะใช้ v.être มาช่วยผัน และต้องทำ accord ตามเพศและพจน์ของประธานด้วย (เพศหญิงเติม e  พหูพจน์ เพศชาย เติม s พหูพจน์ เพศหญิง เติม es)
  • ตำแหน่งการวาง pronom réfléchi (me, te, se, nous, vous, se) ในกาลผสม ต้องวางหน้า v.être เสมอ
ตัวอย่างการผันกริยา pronominal ในกาล simples
ตัวอย่างการผันกริยา pronominal ในกาล composés


 การจะบอกว่าอาบน้ำ เราสามารถเลือกใช้กริยาการอาบน้ำได้เลยค่ะ ไม่ว่าจะอาบน้ำในอ่าง V. se baigner หรือจะอาบน้ำฝักบัว V. se doucher ถ้าบ้าน ๆ แบบที่ไทย คือ ตักขัน ก็ใช้ V. se laver ก็ได้ค่ะ เพราะไม่ได้ระบุวิธีในการอาบน้ำ 555
 สะใภ้คนไหนตัดผมเอง ก็พูดให้เต็มปากไปเลยว่า Je me coupe les cheveux. เชอ เมอ คูป เล เชอเวอ เพราะ V. se couper (soi-même) คือ ตัดผมเอง ไม่ได้ให้ช่าง หรือใครที่ไหนตัดให้ แต่ถ้าไปตัดที่ร้าน เราจะใช้ v. se faire couper les cheveux (chez le coiffeur) ไปตัดในร้านราคาแพง เสียดายตังค์ว่าไหม

 จะขัดตัว V. se frotter หรือจะนวดตัว V. se masser



ท้ายสุดฝากบทสนทนาให้ไปลองฝึกอ่านออกเสียงและนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันคร้า เผื่อคุณสามีมาเร่งขอเข้าห้องน้ำ เราก็จะได้พูดขอต่อเวลาได้ 555

ไปก่อนคร้า ว่าง ๆ จะมาแชร์ความรู้ให้อีกนะคะ จริง ๆ มีหลายเรื่องที่อยากแชร์ แต่ขอเวลาเรียบเรียง จัดระบบข้อมูลในหัวก่อน (มันกระจัดกระจายอยู่ในหัว)

Monday, April 18, 2016

หาแหล่งทานอาหารทะเลราคาไม่แพงในฝรั่งเศส

สวัสดีค่ะ
หลายคนที่อยู่ไทยคงไปเที่ยวสงกรานต์อย่างสนุกสนาน และอีกหลายคนที่อยู่ฝรั่งเศสก็เช่นกัน ตัวมาดามเองก็ได้ไปท่องเที่ยว en vacances มา แต่แบบตะลอนทัวร์ ประมาณทัวร์เหยียบนั่นแหละค่ะ ตามประสาคนอยู่บ้านนอก ห่างไกลจากทะเล เลยอยากไปทานอาหารทะเลสด ๆ ริมทะเล จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เดินทางข้ามฝาก จากตะวันออกของฝรั่งเศส หรือ Grand Est ซึ่งเป็นชื่อแคว้นใหม่ของ Alsace-Champagne-Arden-Lorraine ไปยังแคว้น Bretagne, Normandie และจบที่ Picardie ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแคว้น Hauts de France (เดี๋ยวจะมาอัพเรื่อง Régions ใหม่ให้นะคะ) มาดามต้องนั่งรถตูดบานนานหลายชั่วโมง (12 ชั่วโมงได้ เพราะต้องเอาลูกสาวไปฝากบ้านแม่ย่า เลยยิ่งไกลกว่าเดิม)
มาดามแอบอิจฉาสาว ๆ ที่อยู่ใกล้ทะเลมากเลย ได้มีโอกาสทานอาหารทะเลสด ๆ อยากจะย้ายไปอยู่ที่ Bretagne มากเลยนะตอนนี้

ร้านอาหารทะเล ราคาไม่แพง ใน Bretagne มีมากมาย แต่ขอแนะนำจากร้านที่มาดามแวะชิมละกันค่ะ (ไม่ใช่คนพื้นที่ แต่กระแดะอยากแนะนำ 555) เพื่อเป็นไกด์ไลน์สำหรับคนที่มาท่องเที่ยวที่ Mont Saint Michel และเลยมาแถว Cancale ค่ะ

เริ่มกันที่ร้านแรกเลย ขับเลย Mont Saint Michel มาไม่ไกลมาก ประมาณ 30-40 นาที "Jardin du fruit de mer" ที่เมือง

ภาพบรรยากาศในร้าน Jardin du fruit de mer
ราคาอาหารไม่แพง มาดามสั่ง Plateau apéro marin ค่าเสียหายอยู่ที่ 18 ยูโร และสั่งเพิ่มเจ้ากุ้ง langoustines (ญาติ ๆ lobster แต่ตัวน้อยแบบกุ้ง) สั่งแบบ Plateau เล็กสุด เพราะมาทานตอนบ่ายสามแล้ว หากจัดเต็มคงไม่มีท้องเก็บไว้ทานดินเนอร์ 555


มาเยือนแคว้น Bretagne ก็ห้ามพลาดที่จะลองชิม bolée de cidre ซึ่งเสริฟมาในถ้วย เป็น cidre หรือ cider ในภาษาอังกฤษ ที่มีรสชาติหวาน
คำว่า bolée มาจากคำว่า bol ที่หมายถึง ถ้วยชาม นั่นเอง

Des huîtres creuses (หอยนางรมเปลือกไม่เรียบ) เป็นหอยนางรมมาจากฟาร์มที่เมือง Cancale สด อร่อย ราคาไม่แพง


ร้านนี้มีบริการส่งอาหารทะเลสด ๆ ไปถึงหน้าบ้านด้วย แต่คงสู้มานั่งทานสด ๆ ริมทะเลไม่ได้มั้ง อิอิ ถ้าใครสนใจลองเข้าไปสั่งได้ที่เว็บไซท์ของร้าน http://www.jardindufruitdemer.com/

ถ้ามาช่วงเที่ยงก็สามารถสั่งอาหารจานร้อนได้ หรือจะสั่ง Menu du jour รายการแนะนำประจำวันได้ค่ะ ซึ่งปกติ menu du jour จะราคาประหยัด


พอทานเสร็จก็ออกไปเดินย่อยริมหาดได้ หรือจะไปหาหอยก็ได้นะคะ ถ้าใครจะไปหาหอย อย่าลืมเตรียมบูทยาง และอุปกรณ์หาหอยไปด้วยนะคะ ช่วงนี้ลมแรง อากาศเย็น คงไม่สามารถเดินเท้าเปล่า หรือลากแตะเดินได้ (มาดามไม่ได้เตรียมอะไรไปเลย รองเท้าเลยเต็มไปด้วยโคลนทราย 555)

มาต่อกันที่ร้านที่ 2 จริง ๆ ก็ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นแผงขายหอยนางรมสดจากฟาร์ม ที่ Cancale ไปช่วงเที่ยงจะหาที่จอดรถยากมาก เพราะคนแห่ไปทานอาหารทะเลและนั่ง terrasse กัน และเป็นที่จอดรถเสียตังค์ payant (ที่จอดรถที่ฝรั่งเศสเป็น payant เกือบหมดแล้ว หาที่จอดฟรีตามสถานที่ท่องเที่ยวไม่มีคร้า อันนี้ก็ไม่ต่างจากที่ไทย ถ้าไปวัดพระแก้วก็ไม่สามารถจอดรถหน้าวัดพระแก้วได้ ต้องไปหาที่จอดรถละแวกนั้นเอา)

มาดูหน้าตาแผงลอยขายหอยนางรมที่ Cancale กัน จะมีประมาณ 7-8 แผง แล้วแต่จะเลือกอุดหนุนคร้า เพราะแต่ละแผงก็นำหอยนางรมจากฟาร์มของตัวเองมาขาย




แวะซื้อแล้วก็กินได้เลย ที่นี่จะขาย 12 ตัว ราคาตามป้าย (อย่าริอาจไปต่อรองราคานะคะ อิอิ) ขนาดหอยนางรมใหญ่สุดเบอร์ 0 พูดง่าย ๆ เรียงลำดับจาก 0 ขึ้นไป ไอ้ที่เราทานกันตามร้านส่วนมากจะได้กินเบอร์ 4 หรือไม่ก็เบอร์ 6
มาดามเลือกที่จะอุดหนุนคุณป้าคร้า ซื้อหอยก็บอกเบอร์ไป คนขายก็จะบริการแกะให้ แล้วใส่ถาด ทานเสร็จก็เดินเอาถาดมาคืนคนขาย ถ้าจะซื้อกลับบ้านก็ได้ แต่ต้องแกะเองนะ  สรุปค่าเสียหาย หอยนางรมเบอร์ 0 จำนวน 12 ตัว ราคา 6 ยูโร บวกค่าแกะหอย 1 ยูโร ค่าเลม่อน 50 centimes = 7,50 €/ คน  มาดามขอแนะนำว่าให้เตรียมขนมปังฝรั่งเศส เนย เลม่อน น้ำจิ้มซีฟู้ด ทิชชู่ น้ำเปล่า มาด้วย จะอร่อยคุ้ม อิอิ
นอกจากหอยนางรมจากฟาร์ม ก็ยังมีหอยนางรมจากทะล ที่นี่เรียกว่า la savage จะขายเป็นตัวค่ะ ราคา 80 centimes

นั่งกินกันริมหาด ส่วนมากคนจะนั่งตามขั้นบันไดหิน ได้บรรยากาศอีกแบบ  โต๊ะนั่งก็มีแค่ตัวเดียวไปช้าก็อด ทานเสร็จก็โยนเปลือกหอยทิ้งที่ชายหาดได้เลย แล้วเก็บถาดพร้อมเปลือกเลม่อนไปให้คนขาย เขามีถุงขยะให้ทิ้งเปลือกเลม่อน

ร้านสุดท้าย ร้าน L'aviron ที่ Cancale เลือกร้านนี้เพราะราคาไม่แพง แค่ไม่ได้บรรยากาศ terrasse ใกล้หาดก็เท่านั้น เอาเข้าจริง ๆ ร้านใหญ่ ๆ ทีมี terrasse ก็ไม่ได้ติดหาด เพราะมีถนนคั่น กินไปก็ดมควันรถไปนิด (รถไม่ได้เยอะแบบบ้านเรา) วันที่ไปทานฝนตกด้วย ไม่สามารถนั่ง terrasse ได้ (ข้ออ้าง)
จัดไปให้หายอยาก Plateau de fruits mer สำหรับ 2 คน ค่าเสียหาย 53 ยูโร ที่อื่นก็ปาไป 90 กว่ายูโรคร้า แถมที่นี่ได้ทานทั้งปู tourteau และปูแมงมุม araignée de mer หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า spider crab เป็นญาติ ๆ กับปูอลาสก้า แต่ตัวเล็กกว่ามาก (ร้านอื่นต้องเลือกเอาระหว่าง tourteau กับ araignée de mer)
ปกติใน Plateau หรือ พลาโต้มาตรฐาน ก็จะมี กุ้ง crevettes กุ้ง langoustines  กุ้งสีเทาตัวเล็ก crevettes grises หอยนางรม huîtres หอย bulots (คล้ายหอยหวานบ้านเรา) หอย amandes de mer (เหมือนหอยตลับ) หอย bigorneaux (หอยตัวจิ๋ว เปลือกดำ รสชาติเหมือนหอยทาก จึงมาฉายาว่า l'escagot de mer ในภาษาอังกฤษเรียกว่า winkle สามารถหาเก็บได้ตามซอกหิน ตอนน้ำลด) ปู tourteau  ปูแมงมุม araignée de mer มายองเนส mayonnaise เลม่อน  citron และ น้ำส้มสายชูใส่หอมแดงซอย Vinaigrette échalote huître (อย่าลืมพกน้ำจิ้มซีฟู้ดไปด้วย มาดามพลาดไปแล้ว)

เป็นมื้อที่แน่น และจุกมาก แทบอ้วก เพราะมีปู 2 ตัว 
ถ้าใครชอบทาน Lobster หรือ Homard ในภาษาฝรั่งเศสก็สั่ง Plateau อันแพงสุดได้เลยคร้า ส่วนมาดามขอเที่ยวแบบสนุกและประหยัด เกรงใจสามี เพราะทานที่ร้านอาหารทุกมื้อเลย คิดเป็นเงินไทยก็นะ แพงจุง แต่นานครั้งไปเที่ยวที ก็ไม่เจ็บตัวมากคร้า

ตบท้ายด้วยของหวานขึ้นชื่อของ Bretagne นั่นคือ Far Breton เนื้อแน่น (แน่นแบบขนมเข่งบ้านเรา แน่นแป้ง) ใส่ลูกพรุน  และราดซอสคาราเมล caramel au beurre salé
ใครที่จะวางแพลนไปเที่ยว Mont Saint Michel ลองจัดทริปแบบมาดามได้ Le Mont Saint Michel-Cancale มาดามไม่แนะนำให้หาทานที่ร้านอาหารใน Mont Saint Michel เพราะเป็นร้านขายอาหารให้นักท่องเที่ยว ลองขับรถเลยออกมาหน่อย ราคาก็ไม่แพงด้วย

ไปก่อนคร้า ตอนนี้อยากทานอาหารแซ่บ ๆ









Saturday, April 2, 2016

การต่อ Carte/Titre de séjour ครั้งที่ 2

หลังจากทำการจองคิวออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ก็มาลุยกันต่อเลย เตรียมเอกสารต่าง ๆ แบบที่เคยทำเมื่อปีก่อน มาดูกันค่ะว่าลิสต์รายการเอกสารที่ใช้ต่อ Carte/Titre de séjour มีอะไรบ้าง

รายการเอกสารตามไฟล์ PDF ที่โหลดจากระบบจองคิว เป็นรายการเอกสารสำหรับสะใภ้เขต 67 แต่สะใภ้เขตอื่นก็สามารถนำไปใช้ได้ เพราะเป็นลิสต์ที่ Play save มาก คือ เวลาไปยื่นจริง เจ้าหน้าที่คืนเอกสารมาหลายตัวเลย
โหลดไฟล์ลิสต์เอกสารนี้ที่ไหน ก็ตอนเข้าไปจองคิวในระบบก็จะมีไฟล์ให้คลิกเลือกตามประเภทการขอต่อบัตรฯ สำหรับสะใภ้ฝรั่งเศสแบบเรา ก็ต้อง les conjointes  de Français http://www.bas-rhin.gouv.fr/content/download/16645/125786/file/Conjoint+de+Frcs.pdf  (ลิสต์เอกสารของสะใภ้เขต 67 แต่เขตอื่นก็นำไปดูเป็นแนวทางได้ค่ะ)
ในไฟล์นี้ หน้าแรกจะระบุชัดเจนว่าต้องมายื่นเอกสารด้วยตัวเอง พร้อมสามี และเรามีหน้าที่ต้องเตรียมเอกสารให้ครบตามลิสต์ โดยมีทั้งเอกสารตัวจริงและสำเนา (แนะนำว่าให้จัดเอกสารตามลิสต์ โดยแยกออกเป็น 2 ซอง คือ ซองเอกสารต้นฉบับหรือตัวจริง และซองสำเนาเอกสาร)


 หน้าที่ 2 เป็นหน้าที่เราไม่ใช้แน่นอน คือ Déclaration de non polygamie เพราะไม่ได้เป็นมุสลิม หรือมาจากประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีสามี หรือ ภรรยาได้มากกว่า 1 คน มาดามเลยไม่นำมาแชร์ให้ดูค่ะ

มาต่อกันที่หน้าที่ 3 อันนี้คือ Attestation d'hébergement  หน้านี้ยื่นให้สามีเป็นคนกรอกเลยคร้า (ยื่นไป 2 ครั้งแล้ว คือ ครั้งแรกขอบัตรฯ และครั้งนี้ขอต่อบัตรฯ เจ้าหน้าที่ไม่ใช้เลยสักครั้ง เพราะสะใภ้และสามีต้องไปยืนกรอกข้อมูลและเซ็นชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หน้าเคาน์เตอร์ หรือ Guichet




 หน้าสุดท้าย คือ Déclaration sur l'honneur concernant votre situation familiale นี่ก็ไม่ใช้เหมือนกัน แต่กรอกไปทุกปี (มาดามเดาว่าน่าจะใช้สำหรับครอบครัวที่มีบุตรนะคะ)



แต่มาดามได้ลิสต์อีกอันนึง ได้มาจากเจ้าหน้าที่ Préfecture du Bas-Rhin ในวันที่มาดามรับประทานแห้วนั่นแหล่ค่ะ ชีให้เอกสารมาพร้อมบอกว่าเขาเปลี่ยนระบบมาเป็นจองคิวออนไลน์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
เอกสารนี้แจ้งว่า la Préfecture du Bas-Rhin เปิดให้บริการจองคิวออนไลน์สำหรับการขอต่อ Carte/Titre de séjour หมายถึง เฉพาะคนที่จะต้องมาต่อบัตรฯ ครั้งที่ 2  ส่วนการขอบัตรฯ ครั้งแรกก็ต้องไปกดบัตรคิว รอคิวเป็นชั่วโมงเหมือนเดิมค่ะ 
บริการจองคิวออนไลน์นี้ ทำให้เราไม่ต้องรอคิวนาน เลือกวันเวลาได้ตามชอบใจ บริการรวดเร็ว และยังระบุว่าบัตรประเภทใดที่สามารถใช้บริการจองคิวนี้ได้ และก็อธิบายเล็กน้อยว่าเข้าไปจองคิวที่เพจของ Préfecture du Bas-Rhin เลือกที่ Démarches administratives และ Prendre un rendez-vous  และระบุว่าต้องนำหนังสือยืนยันการนัดหมาย หรือ Convocation de rendez-vous มายื่นที่ Guichet ในวันนัดด้วย แถมบอกว่าควรมาก่อนเวลานัด 10 นาที และให้ตรงดิ่งไปที่ Guichet i โดยไม่ต้องกดบัตรคิว หากมาสาย จะถือว่ายกเลิกนัดไปโดยปริยาย และการขอต่อบัตรต้องขอทำล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ
รายการเอกสารที่เจ้าหน้าที่ติ๊กให้
มาดูรายการเอกสารที่ใช้ขอต่อบัตรฯ ครั้งที่ 2 กันค่ะ
  1. หนังสือเดินทางเล่มจริงที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนาหน้าหนังสือเดินทาง (กรณีที่มีวีซ่าและแสตมป์ OFII อยู่ในหนังสือเดินทางเล่มเก่าที่หมดอายุแล้ว ก็ต้องนำเล่นนั้นไปด้วย)
  2. สำเนาหน้าวีซ่าที่ได้มาจากสถานทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงเทพฯ
  3. สำเนาหน้าแสตมป์ OFII หรือ Vignette OFII
  4. การ์ดเดอเซชูที่ถืออยู่ Carte/Titre de séjour พร้อมสำเนาหน้า-หลัง
  5. รูปถ่ายติดบัตร 3 รูป (ให้เขียนชื่อ-นามสกุลข้างหลังรูปด้วย กันเจ้าหน้าที่ทำหาย) จะไปถ่ายที่ร้านก็ได้ ราคาแพงหน่อย แถมสามารถเลือกรูปที่เราคิดว่าสวยพอแล้วได้ ไม่พอใจก็ถ่ายใหม่ได้จนกว่าจะพอใจ และไม่มีคำว่าพลาดหรือใช้ไม่ได้ โดยบอกร้านว่า prend des photos d'identité แต่จะถ่ายที่ตู้ถ่ายรูปก็ได้ค่ะ
  6. เอกสารที่พิสูจน์ได้ว่าสะใภ้อาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับสามี Justificatif de domicile de moins de 3 mois เช่น บิลค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแกส หรือจดหมายต่าง ๆ ที่จ่าหน้าถึงสะใภ้  ต้องเตรียมไป 3 ฉบับ พร้อมสำเนา และต้องมีอายุอย่างน้อย 3 เดือน
  7. แสตมป์อากร 106 ยูโร Timbres fiscaux สามารถซื้อได้ที่ tabac หรือ la poste 
  8. เอกสารต่าง ๆ ของ OFII ต้นฉบับพร้อมสำเนา: สัญญา OFII หรือ COntrat d'accueil et d'intégration, ใบตรวจร่างกาย Certificat de contrôle médical, Attestation ต่าง ๆ เช่น Session d'information sur la vie en France อบรมการใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศส, de formation civique อบรมเรื่องสิทธิ ระบบการเมืองการปกครอง, de connaissance des valeurs de la République ความรู้เกี่ยวกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส, de dispense de formation linguistique อบรมภาษา, de réalisation d'un bilan de compétences professionnelles อบรมความสามารถในอาชีพ (สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนภาษากับ OFII แต่คนที่ได้เรียนภาษากับ OFII และได้ผ่านการสอบภาษาแล้วก็นำใบประกาศที่ว่าสอบผ่านแล้วไปยื่นด้วย)
  9. บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางของสามี พร้อมสำเนา
  10. เอกสารของสามี เช่น สลิปเงินเดือน ใบภาษี ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ (ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) เพื่อพิสูจน์ว่าอยู่บ้านเดียวกัน
  11. ทะเบียนสมรส Acte de mariage พร้อมสำเนา กรณีที่จดทะเบียนสมรสในประเทศฝรั่งเศส แต่ถ้าจดที่ไทยก็ต้องนำทะเบียนสมรส+แปล ฉบับจริงพร้อมสำเนา
  12. หากมีบุตร ต้องนำสูติบัตรของบุตรไปด้วย Actes de naissance des enfants
  13. หนังสือยืนยันนัดหมาย Convocation de rendez-vous ที่ได้มาจากการจองคิวออนไลน์ แต่ถ้าเขตไหนไม่มีแบบจองคิวออนไลน์ก็ไม่มีเอกสารตัวนี้ค่ะ
จะสังเกตุว่าลิสต์รายการที่เจ้าหน้าที่ให้มา ไม่ได้ระบุว่าต้องยื่นสูติบัตรของสะใภ้เลย แต่เตรียมไปเกินดีกว่าขาดค่ะ จากประสบการณ์ของมาดาม

พอถึงวันนัดไปต่อบัตรฯ ที่ Préfecture ก็หอบเอกสารทั้งหมดไป มาดามเลือกนัดตอนเช้า 8.45 น. ก็ต้องไปให้ถึงก่อนเวลานัด คือ ต้องถึงประมาณ 8.30 น. ถ้าสะใภ้คนไหนอยู่บ้านนอกแบบมาดามก็ต้องเผื่อเวลาเดินทางให้ดี ๆ นะคะ เข้าเมืองรถติด หากวันไหนมีประท้วงอะไรในเมือง รถก็ติด ของมาดามนี่ลุ้นแทบตาย 8 โมงแล้วนยังไปได้เข้าไปในตัวเมือง Strasbourg เลย ลุ้น ๆ มากวันนั้น แต่โชคดีที่ไปทัน 8.30 น.

ไปถึงก็เจอผู้คนยืนออกันที่หน้า Préfecture ตกใจ คิดว่ามีประท้วงอะไรกัน แต่ไม่ใช่ค่ะ เป็นคนที่มาต่อคิวรอเข้าไปใช้บริการ เนื่องจาก Préfecture du Bas-Rhin เปิดให้บริการเวลา 8.30 น. คนที่มาก่อนเวลาก็ต้องยืนต่อคิวกันหน้า Préfecture เพราะเข้าไปไม่ได้  โดยจะแบ่งออกเป็น 2 แถว คือ คนที่จะมาทำ Permis de conduire หรือใบขับขี่ และคนต่างด้าวอย่างเราที่ต้องไปต่อแถวของ L'étrangers พอถึงเวลาเปิดทำการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ค่อย ๆ ปล่อยให้คนเข้าไปค่ะ แต่จะเรียกทีละแถว สลับกันไป
สะใภ้และสามีไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าไปช้า มันไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะเราต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่ก่อน

สำหรับสะใภ้เขต 67 ที่ขึ้นตรงกับ Préfecture du Bas-Rhin, Strasbourg ก็เดินเข้าไปในสุดเลย จะเจอป้าย Rendez-vous Guichet
ไปนั่งรอได้เลย มีเก้าอี้ให้รอ 2 ตัว สำหรับสะใภ้และสามี เพราะเป็นที่สำหรับผู้ที่จองคิวออนไลน์ไว้

มาดามเป็นคิวที่ 2 ค่ะ คิวแรก คือ 8.30 น. เดาว่าเป็นสาวจีน เธอมาคนเดียว เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องพาสามีมาด้วย เพราะในใบลิสต์เอกสารก็ระบุชัดว่าต้องพาสามีมาด้วย เจ้าหน้าที่ก็แค่ตรวจเอกสาร และจัดเรียงเอกสาร และคืนให้ พร้อมย้ำว่าต้องพาสามีมาด้วย สรุปเธอต้องกลับบ้านไป และไปจองคิวออนไลน์ใหม่
ทำไม่ต้องไปพร้อมกับสามี? เพื่อพามาแสดงตัวว่าอยู่ด้วยกันจริง ไม่ได้เป็น Mariage blanc หรือ white mariage แต่งแบบหลอก ๆ เพื่อมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากที่ผ่านมา มีคนทำแบบนี้เยอะมาก โดยเฉพาะอาหรับ


พอถึงคิวมาดามก็ยื่นหนังสือนัดหมาย Convocation de rendez-vous ให้เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเรียกดู Carte/Titre de séjour ก็ยื่นไปเลยค่ะ แล้วก็ค่อยยื่นเอกสารต่าง ๆ ตามที่เจ้าหน้าที่เรียก
สามีและสะใภ้ต้องเขียนชื่อ-นามสกุล พร้อมลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่าอยู่ร่วมกันจริง และสะใภ้ก็ต้องเซ็นชื่อในใบคำร้องขอต่อบัตร
จากนั้นก็สแกนนิ้วมือ 4 นิ้ว พร้อมกัน ทีละข้าง ที่เครื่องสแกนนิ้วมือ โดยต้องกดแช่จนไฟเขียวติด ต่อมาก็สแกนนิ้วโป้ง
เจ้าหน้าที่ก็จะสั่งพิมพ์ใบแทน หรือ Récépissé de demande de carte de séjour พร้อมบอกให้ตรวจสอบความถูกต้อง ถ้าไม่มีอะไรผิดก็เซ็นชื่อ และกลับบ้านไปพร้อมใบแทนค่ะ

ทั้งหมดใช้เวลาแค่ 10 นาที ประทับใจมากค่ะ ชอบมากบริการรวดเร็วแบบนี้ ไม่เหมือนปีแรกที่ไปขอบัตรฯ รอนานมากเป็นชั่วโมงเลย แถมเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าแต่งงานครบ 3 ปี แล้วก็สามารถขอบัตร 10 ปีได้ โดยให้จองคิวออนไลน์เหมือนการต่อบัตรฯ ครั้งที่ 2 

ปีหน้าเจอกัน Préfecture du Bas-Rhin

ขั้นตอนการจองคิวออนไลน์เพื่อขอต่อ Carte/Titre de séjour ครั้งที่ 2

มาตามสัญญาค่ะ ที่บอกว่าจะมาอัพเดทการต่อการ์ดเดอเซชู ครั้งที่ 2 หรือ Renouvellement de titre de séjour (โพสนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับสะใภ้ที่อยู่เขต 67 และขึ้นตรงกับ la Préfecture du Bas-Rhin ที่ Strasbourg ส่วนสะใภ้ที่อยู่เขตอื่นก็ใช้เป็นแนวทางได้ค่ะ หลักการคงใกล้เคียงกัน)

ชีวิตสะใภ้ฝรั่งเศสต้องอยู่กับกองเอกสาร ไม่มีทางหลีกเลี่ยง สำหรับสะใภ้ที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นปีที่ 2 หรือย่างเข้าปีที่ 2  คือ ผ่านการขอ carte de séjour กันมาแล้วครั้งนึง และถึงเวลาที่ต้องไปขอต่อบัตรฯ (ขอล่วงหน้า 2-3 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ) ครั้งนี้ เราเรียกว่า Renouvellement de titre de séjour  ส่วนครั้งแรกเป็นการขอทำ  Carte de séjour ครั้งแรก (เนื่องจาก visa ที่ได้มาจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้ควบคู่กับสแตมป์ OFII หมดอายุลง) ไม่ใช่การต่อบัตร

ในบางเขตสามารถจองคิวออนไลน์ได้ตั้งแต่การขอทำ carte de séjour ครั้งแรก แต่สำหรับเขต 67 โดยเฉพาะคนที่ต้องมาใช้บริการ ณ Préfecture du Bas-Rhin ต้องไปกดบัตรคิว และรอคิวเป็นชั่วโมงเพื่อขอทำบัตรครั้งแรก (ถึงแม้ Strasbourg จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ แต่เพิ่งเปิดบริการจองคิวออนไลน์เมื่อปลายปี 2015 และให้บริการเฉพาะผู้ที่ขอต่อบัตรเท่านั้น ถ้าทำบัตรครั้งแรกก็ต้องไปกดบัตรคิวเหมือนเดิม) มาดามก็ไม่ทราบว่าเขาเปิดบริการจองคิวออนไลน์เพื่อขอต่อบัตร เลยไปกดบัตรคิวและรอคิว (ดีนะรอไม่ถึงชั่วโมง นกเอี้ยงบินมาเกาะหลังไกลมาก 555)  เลยต้องรับประทานแห้วและกลับบ้านไป เพื่อไปทำการจองคิวออนไลน์ โชคดีที่คิวออนไลน์มีว่างเยอะ ไม่ต้องรอนาน อิอิ

มาลุยกันค่ะ
เริ่มแรกก็เข้าไปที่หน้าเพจของ Préfecture du Bas-Rhin ที่ www.bas-rhin.gouv.fr มาดามขอแนะนำว่าให้ทำการจองคิวโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นะคะ เพราะมาดามลองแล้วกับมือถือ มันมีปัญหานิดหน่อยตรงหน้าการเลือกวันเวลาค่ะ

พอเข้าไปแล้วให้ส่องหากล่องสีน้ำเงินที่เชียนว่า Prendre un rendez-vous เพื่อทำการจองคิวออนไลน์ แต่ถ้าไม่เจอลองคลิกที่แถบเมนูด้านบนของเพจที่เขียนว่า Démarches administratives ก็ได้ค่ะ แล้วเลือก sub-menu อันแรกเลย คือ Prendre un rendez-vous ก็สามารถเข้าระบบจองคิวออนไลน์ของ Préfecture du Bas-Rhin ได้
หลังจากคลิกที่ Prendre un rendez-vous แล้ว จะเข้ามาที่หน้าของระบบการจองคิวออนไลน์ ซึ่งทาง Préfecture du Bas-Rhin จะให้บริการจองคิวออนไลน์สำหรับการขอต่อ carte/titre de séjour และการต่อ permis de conduire ใบขับขี่ สำหรับสะใภ้อย่างเราก็ต้องคลิกอันบนเลย คือ déposer un dossier complet de demande de renouvellement de titre de séjour
พอคลิกแล้วจะเจอหน้าแรกสำหรับการจองคิวออนไลน์ คือ Prise de rendez-vous des titres de séjour de la préfecture du bas-rhinโดยบอกว่าทาง Préfecture ได้เสนอการบริการจองคิวออนไลน์สำหรับผู้ที่ต้องการต่อ carte/titre de séjour โดยไม่ต้องกดบัตรคิวและรอคิวอีกต่อไป แต่ต้องเตรียมเอกสารให้ครบด้วย จะได้ไม่เสียเวลามาใหม่อีกรอบ ในหน้านี้ก็จะกล่าวถึงการใช้ข้อมูลตามกฎหมาย Informatique et livertés วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเมื่อปี 2004
นอกจากนี้ Préfecture ขอสงวนสิทธิในการยกเลิกนัดได้ กรณีที่โดนยกเลิกนัด จะมีการแจ้งไปทางเมล์
การจองคิวนัดหมายผ่านอินเตอร์เนทจะเปิดให้บริการสำหรับการต่อบัตรสำหรับคู่สมรสฝรั่งเศส (สะใภ้ฝรั่งเศสแบบเรา) ผู้ปกครองของเด็กฝรั่งเศส และนักเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านการปกครองของ Haguenau-Wissembourg และ Sélestat-Erstein ยังคงต้องไปกดบัตรที่ Sous-Préfecture ของตน คือที่ Haguenau และ Sélestat และไม่สามารถใช้บริการจองคิวออนไลน์นี้ได้
จะเห็นได้ว่าในระบบการจองคิวออนไลน์ของ Préfecture du Bas-Rhin มีด้วยกัน 6 รายการ คือ
  1. Prise de RDV คำว่า RDV ย่อมาจาก Rendez-vous หมายถึง นัดหมาย เพื่อรับทราบเงื่อนไขการนำข้อมูลไปใช้และเริ่มการจองคิวในระบบ
  2. Descriptif เลือกประเภทของบัตรที่จะต่อ เพื่อดูรายการเอกสารที่ต้องใช้ยื่น
  3. Chois d'une plage เลือกวันและเวลาที่ต้องการไปยื่นขอต่อบัตร
  4. Contrôle de sécurité ป้องกัน spam หรือรักษาความปลอดภัยของระบบการจองคิว
  5. Coordonnées personnelles ข้อมูลส่วนบุคคล
  6. Valider et termnier ยืนยันการจองคิว
รายการแรก คือ Prise RDV จะมีรายการไฟล์ PDF ตามประเภทการขอต่อบัตร สำหรับสะใภ้ฝรั่งเศสต้องเลือกที่ les conjointes de Français ซึ่งจะลิ้งค์ไปที่ http://www.bas-rhin.gouv.fr/content/download/16645/125786/file/Conjoint+de+Frcs.pdf
 ยังไม่จบ ยังอยู่รายการแรกอยู่ค่ะ เรายังอยู่กันที่หน้า Prise de RDV และยังไม่สามารถไปหน้าอื่นได้ถ้าไม่ติ๊กถูกที่ช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีแดง ที่เขียนว่า Veuillez cocher la case pour accepter les conditions d'utilisation avant de continuer le processus de prise de rendez-vous.  หมายความว่า กรุณาติ๊กที่ช่องเพื่อยอมรับเงื่อนไขในการใช้ก่อนที่จะดำเนินการจองคิวในระบบ ถ้าลืม หรือ ไม่ติ๊ก ก็ไปไหนต่อไม่ได้ มันจะขึ้นข้อความตัวแดงว่ากรุณาติ๊กด้วย

จากนั้นก็คลิกไปที่ Effectuer une demande de rendez-vous เพื่อเริ่มการจองคิวออนไลน์

รายการที่ 2 คือ หน้า Descriptif  เป็นหน้าที่เราสามารถเลือกประเภทการนัดหมายว่าจะมาขอต่อบัตรประเภทอะไร สำหรับสะใภ้ฯ ก็ต้องเลือกที่ Pour un RDV "conjoints de Français" ซึ่งก็จะลิ้งค์ไปที่ http://www.bas-rhin.gouv.fr/content/download/16645/125786/file/Conjoint+de+Frcs.pdf (หน้าเดียวกัน ไฟล์เดียวกันกับหน้า Prise de RDV นั่นแหละ)


หน้าตาไฟล์ PDF ที่โหลดมาเพื่อดูว่ารายการเอกสารที่ใช้ยื่นขอต่อบัตรฯมีอะไรบ้าง (เวลาที่ไปยื่นขอต่อบัตร เจ้าหน้าที่มักจะถามว่าได้จัดเอกสารตามไฟล์หรือไม่ เพราะเขากลัวว่าจะนำเอกสารมาไม่ครบ จะเสียเวลา) ที่สำคัญต้องมายื่นด้วยตนเอง พร้อมสามี ถ้ามาคนเดียวก็ต้องกลับไป และจองคิวใหม่ค่ะ


มาต่อกันที่รายการที่ 3 คือ Choix d'une plage อ่านเผิน ๆ อาจนึกไปถึงชายหาด la plage แต่ไม่ใช่ชายหาดแต่อย่างใด คำว่า une plage มีอีกความหมาย คือ ช่อง แถบ  ดังนั้น ในรายการที่ 3 นี้ คือ การเลือกแถบวันเวลาที่ต้องการไปยื่นต่อบัตรฯ นั่นเองค่ะ  ถ้าเราเข้าไปจองคิวผ่านคอมพิวเตอร์ เราจะสามารถคลิกเลือกแถบวันเวลาสีขาวที่เขียนว่า libre คือ ว่าง สามารถจองได้  เลือกได้ตามใจชอบ สะดวกวันไหนก็คลิกเลือกไปเลย พอคลิกแล้วจะขึ้นกล่องสีน้ำเงินขึ้นมาให้ดู ก็คลิกซ้ำไปอีกรอบ
ถ้าเข้าระบบจองผ่านมือถือ ก็จะโดนระบบเลือกวันและเวลาว่างในอันดับต้น ๆ ให้ หรือ Première plage horaire libre โดยที่เราไม่มีสิทธิเลือกเองเลย อันนี้ก็แล้วแต่สะใภ้นะคะ ว่าต้องการไปด่วน หรือต้องการไปตามที่ตนสะดวก
ยกตัวอย่างให้เห็น เช่น วันที่ 30 มีนาคม มีคิวจองเต็มหมด (แถบสีเทาทึบเต็มไปหมด) ถ้ากดเลือกกล่อง Première plage horaire libre ด้านล่างของหน้ารายการที่ 3 นี้ หรือเข้าจองผ่านมือถือ ระบบจะจองวันเวลาให้เอง คือ วันที่ 31 มีนาคม เวลา 8.45 น. เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่ว่างในอันดับแรก  แต่ถ้าเราคลิกเลือกเองตามสะดวก ก็สามารถเลือกที่ช่องวันที่ 1 เมษายน เวลา 9.15 น. ได้

หลังจากเลือกวันและเวลา ก็มาถึงรายการที่ 4 คือ  Contrôle de sécurité หรือ การควบคุมความปลอดภัยของระบบ ก็เหมือนเวลาไปสั่งซื้อของออนไลน์ตามเว็บต่าง ๆ ก็จะต้องกรอกตัวเลข ตัวอักษรตัวเล็ก-ใหญ่ ตามที่ปรากฎในกล่อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันพวก bot หรือ spam ที่เข้ามาป่วนระบบ  
ในหน้านี้ จะมีการแสดงข้อมูลการจองคิว คือ ประเภทการขอต่อบัตร วัน และ เวลา ที่จองคิว  
สะใภ้ก็มีหน้าที่ดูว่าถูกต้องไหม และคีย์กรอกไป แล้วกดที่ Etape suivante เพื่อทำรายการต่อไปค่ะ ถ้าไม่ถูกต้องลองคลิกที่ลูกศรแถบ Choix d'une plage เพื่อไปแก้ไขรายการ



รายการต่อไป คือ Coordonnées personnelles เป็นรายการที่ 5 เดาเอาจากคำก็จะทราบว่าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับส่วนบุคคล  เพราะมีคำว่า personnelles นั่นเอง  ในหน้านี้ สะใภ้ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล์ หมายเลขการ์ดเดอเซชูที่ถืออยู่ วันหมดอายุ รหัสไปรษณีย์ เป็นต้น กรอกเสร็จก็คลิกที่ Etape suivante หรือ Next ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
สะใภ้บางคนอาจไม่แน่ใจว่าหมายเลขการ์ดเดอเซชูของตน ดูได้จากตรงไหน มาดูกันค่ะ
เราจะใช้ข้อมูลในหมายเลข 1 คือ หมายเลขการ์ดเดอเซชู และหมายเลข 2 คือ วันหมดอายุ

รายการสุดท้าย คือ Valider et terminer เป็นรายการที่ 6 ซึ่งเป็นหน้าการยืนยันการจองคิว และสิ้นสุดการทำรายการ (V. valider คือ การยืนยัน  V. terminer สิ้นสุด)
ในหน้านี้จะแสดงข้อมูลการจองคิว คือ ประเภทการขอรับบริการ คือ การต่อบัตร วันและเวลาที่จองคิว
ให้สะใภ้คลิกไปที่ Terminer เพื่อสิ้นสุดการทำรายการในระบบจองคิว  และระบบจะส่งเมล์ไปเพื่อให้สะใภ้คลิกยืนยัน แต่ต้องทำภายในเวลา 15 นาที ถ้าเกินกว่า 15 นาที ระบบจะลบคิวของเราออกไป แล้วเราก็ต้องมาเริ่มจองคิวใหม่อีก
จะช้าอยู่ใย ก็รีบเข้าเมล์ตัวเอง แล้วรีบเปิดเมล์ของ Services de l'Etat เลย เขาส่งมาให้เราทันที พอเปิดอ่านเมล์ก็ให้รีบคลิกไปที่ Cliquez ici pour confirmer cette demande de rendez-vous
จากนั้นจะลิ้งค์กลับไปที่หน้าเพจของระบบจองคิว สะใภ้ก็ตรวจสอบว่าชื่อ-สกุล วัน เวลา ที่จองคิวถูกต้องไหม ถ้าถูกต้อง ก็คลิกไปที่ Effectuer une demande de rendez-vous โล้ด แต่ถ้าไม่ถูดต้องก็สามารถจัดการแก้ไขได้ โดยคลิกที่ Annuler, consulter et gérer mes demandes de rendez-vous


พอทำการยืนยันแล้ว ระบบจะส่งเมล์พร้อมแนบไฟล์หนังสือนัดหมายมาให้ด้วย สะใภ้ต้อง save เก็บไว้แล้วสั่งพิมพ์ออกมา เนื่องจากต้องนำหนังสือนัดหมาย หรือ Convocation ฉบับนี้ไปยื่นที่เคาน์เตอร์ หรือ Guichet ด้วย
หน้าตาของ Convocation  de rendez-vous ซึ่งจะระบุนามสกุลสามี ชื่อจริงสะใภ้ หมายเลขการ์ดเดอเซชู รหัสไปรษณีย์ เบอร์โทรศัพท์  โดยมีเนื้อความในหนังสือ ว่า ยืนยันการนัดหมายเพื่อต่อบัตรฯ ในวันที่ .... เวลา .... ที่ Guichet i (เคาน์เตอร์ที่ให้บริการสำหรับคิวออนไลน์ในการขอต่อบัตรฯ) และต้องนำหนังสือฉบับนี้มายื่นด้วย
แถมบอกว่าเรายังสามารถลบการจองคิวนี้ได้  คือ ระบบอนุญาตให้ทำได้จนถึงวันและเวลาที่ระบุ ถ้าเกินกว่านี้ไม่สามารถเข้าไปลบคิวได้ 
ห้ามไปสายเด็ดขาด ถ้าสาย ถือว่า ยกเลิกนัด 
ต้องมาก่อนเวลานัด 10 นาที
ต้องเตรียมเอกสารมาให้ครบ ไม่ครบก็ต้องกลับไปจองคิวใหม่



เป็นอันสิ้นสุดการจองคิวออนไลน์ค่ะ แต่ขอแถมอีกนิด การทำงานของระบบจองคิวออนไลน์ยังไม่เสร็จสิ้นดี เพราะก่อนวันนัด 1 วัน ระบบจะส่งเมล์แจ้งเตือนว่าเรามีนัดกับ Préfecture นะ


จองคิวเรียบร้อยแล้ว ทำเองได้คนเดียว ไม่ยาก